ศรชล. ภาค 1 ฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2563

           เมื่อวันที่ 4 ส.ค.63 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 1 (ศรชล.ภาค 1) โดยพลเรือตรี ชาติชาย ทองสะอาด ผอ.สำนักฝ่ายอำนวยการ ศรชล.ภาค 1 เป็น ผอ.ฝึกปฏิบัติการร่วมในส่วนของ ศรชล.ภาค 1 โดยจัดกำลังพลใน ศรชล. ภาค 1 และผู้แทนหน่วยงานหลักของ ศรชล.ภาค 1 เข้าร่วมการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ระหว่าง 3 – 7 ส.ค.63 ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ศรชล.ภาค 1 (อาคาร บก.ศรชล.ภาค 1) อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
           สำหรับการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. เป็นการฝึกร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศรชล. ร่วมกับหน่วยงานหลักใน ศรชล. และหน่วยเกี่ยวข้อง โดยได้ผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ ประจำปี 2563 (CMEX 20) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ซึ่งยังได้มีการกำหนดประเด็นการฝึกที่สำคัญต่าง ๆ ในการฝึก CMEX 20 ได้แก่ การบริหารจัดการภัยความมั่นคงไซเบอร์ การบริหารจัดการสาธารณภัย (สาธารณภัยจากปัญหาหมอกควันและไฟป่า) การต่อต้านการก่อการร้าย การกำกับดูแลความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสี การผนึกกำลังและทรัพยากรเพื่อการป้องกันประเทศ โดย สมช. และหน่วยรับผิดชอบหลักของแต่ละประเด็นฝึก ได้พิจารณากำหนดสถานการณ์ฝึกในภาพรวมร่วมกัน
             ในส่วนของประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมี ศรชล. เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก และได้บูรณาการการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ผนวกเข้าร่วมกับการฝึกฯ ดังกล่าว ซึ่งจะทำการฝึกโดยใช้สถานการณ์ฝึกหลักของการฝึก CMEX 20 เป็นกรอบสถานการณ์ตั้งต้น และจะกำหนดสถานการณ์เพิ่มเติมให้ครอบคลุมพื้นที่และสาขาปฏิบัติการ รวมทั้งบูรณาการขีดความสามารถของหน่วย ร่วมกับหน่วยงานหลักใน ศรชล. และหน่วยเกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับการปฏิบัติการและตอบสนองให้ทันต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคง จากภัยคุกคามทางทะเลที่จะเกิดขึ้น ตามกรอบอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2563 โดยกำหนดวัตถุประสงค์หลัก เพื่อทดสอบแนวความคิดในการปฏิบัติการและการบัญชาการเหตุการณ์/การอำนวยการตามสถานการณ์ของ ศรชล. และเพื่อทดสอบขีดความสามารถของกำลังในการปฏิบัติการร่วม ส่วนหัวข้อการฝึก ได้แก่ 1. การปราบปรามการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) 2. การป้องกันและปราบปรามการลักลอบขนส่งสารกัมมันตภาพรังสี (WMD)/สินค้าทางทะเลที่ผิดกฎหมาย หรือสินค้าต้องห้ามตามพันธกรณีระหว่างประเทศ 3. การขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลในทะเล (Oil spill) 4. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (SAR) และ 5. การจัดการ/การสนับสนุนการในสถานการณ์ร้ายแรงด้านปัญหาโรคติดต่อ COVID19
            โดยมีกรอบการฝึก ประกอบด้วย การฝึกอบรมก่อนการฝึก การฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (FTX) สำหรับการฝึกปัญหาที่บังคับการเป็นการฝึกทดสอบการอำนวยการ/การบัญชาการเหตุการณ์ ตามแนว ทางการปฏิบัติการของ ศรชล. และทดสอบแนวความคิดการปฏิบัติของหน่วยงานใน ศรชล. ทั้งระดับ บก.ศรชล./ศยก.ศรชล. และ ศรชล.ภาค ในแต่ละขั้นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ศรชล. ที่ตั้งปกติของหน่วยรับการฝึกต่าง ๆ ประกอบด้วย ศยก.ศรชล. พระราชวังเดิม กทม. ศรชล.ภาค 1 จ.ชลบุรี ศรชล.ภาค 2 จ.สงขลา และ ศรชล.ภาค 3 จ.ภูเก็ต โดยจะมีการจัดตั้งส่วนควบคุมการฝึกฯ ณ กองการฝึกกองเรือยุทธการ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

Subscribe
Advertisement