สภาเมืองพัทยาเห็นชอบโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบฯ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียพื้นที่พัทยาและนาเกลือ เพื่อขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล หวังเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาและพื้นใกล้เคียง

              ในการประชุมสภาเมืองพัทยา สมัยสามัญ สมัยที่สาม ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ณ ห้องประชุมสภาเมืองพัทยา นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา ได้มีการเสนอญัตติ เรื่องขออนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำชี้แจงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 แผนงานเคหะและชุมชน งานบำบัดน้ำเสีย หมวดค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ประเภทรายจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาซึ่งเกี่ยวกับสิ่งก่อสร้าง
              นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ด้วยโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดและการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียพื้นที่พัทยาและนาเกลือ เป็นโครงการที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ เนื่องจากตามแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษที่กรมควบคลุมมลพิษได้ดำเนินการศึกษาออกแบบไว้ในปี พ.ศ.2540 กำหนดให้ระบบบำบัดน้ำเสียพื้นที่พัทยาและนาเกลือ ระยะที่ 1 ให้สามารถรองรับน้ำเสียได้ 65,000 ลบ.ม.ต่อวัน ในช่วงเวลา 10 ปีแรกหลังเปิดเดินระบบ และให้ทำการขยายระบบบำบัดน้ำเสียให้รองรับน้ำเสียได้อีก 10 ปีต่อมา
            ซึ่งเมืองพัทยาได้ทำการเดินระบบบำบัดน้ำสียแห่งนี้มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2543 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปี และที่ผ่านมาเมืองพัทยายังไม่ได้ทำการขยายความสามารถในการรองรับน้ำเสียของระบบได้อย่างเพียงพอ ตามปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งหากวิเคราะห์อายุการใช้งานและปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นจะพบว่าเมืองพัทยาควรจัดเตรียมโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียพื้นที่พัทยาและนาเกลือ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างระบบให้มีประสิทธิภาพและศักยภาพสอดคล้องกับอายุการใช้งานและปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งการก่อสร้างเพื่อขยายระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูงเกินศักยภาพของเมืองพัทยา จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล โดยอาจขอรับงบประมาณผ่านไปทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือสำนักงบประมาณ รวมไปถึง EEC แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
                รองนายกเมืองพัทยา กล่าวต่ออีกว่า จากประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกำหนดให้การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีขนาดเกินกว่า 3,000 ลบ.ม.ต่อวัน จะต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล กำหนดให้ต้องเสนอรายละเอียดแบบก่อสร้าง ประมาณการที่ถูกต้องครบถ้วนตามกำหนด ซึ่งเมืองพัทยาไม่มีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถในสาขาวิชาชีพที่ต้องการอย่างเพียงพอที่จะดำเนินการได้เอง และเนื่องจากงานศึกษาปรับปรุงรายละเอียดทางวิศวกรรมและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นงานที่เมืองพัทยาดำเนินการเป็นครั้งคราว ไม่มีลักษณะเป็นงานประจำถาวร จึงไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตรากำลังแต่ใช้การว่าจ้างที่ปรึกษาที่บุคลากรที่มีวิชาชีพตามกำหนด
             สำหรับโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายการงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย พื้นที่พัทยาและนาเกลือ เพื่อทวบทวนผลการศึกษาความเหมาะสม Feasibility Study และการออกแบบที่ได้มีผู้ที่เคยศึกษาไว้สำหรับเมืองพัทยาและบริเวณใกล้เคียง เพื่อจัดทำแผนงานการบริหารจัดการน้ำของเมืองพัทยาให้เป็นระบบในทิศทางเดียวกันอย่างน้อยเป็นเวลา 20 ปี อีกทั้งเพื่อทำแบบรายละเอียดระบบรวบรวมน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียตามแนวทางที่ได้ทำการศึกษาสำหรับการประกวดราคา เพื่อดำเนินการก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งขอบเขตการดำเนินงานโรงบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ซอยหนองใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 80 ไร่ ระบบรวบรวมน้ำเสียครอบคลุมพื้นที่ 28.3 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่พัทยาและนาเกลือและบริเวณใกล้เคียงที่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งเมืองพัทยา และศึกษาทบทวนและปรับปรุงผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ เป็นต้น
            ด้านนายธเนศ ศุภรสหัสรังสี สมาชิกสภามืองพัทยา ได้สอบถามไปยังฝ่ายบริหาร ว่า โครง
การจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาอกกแบบรายละเอียดและจัดทำรายการงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย พื้นที่พัทยาและนาเกลือ นั้นจะได้รับการอนุมัติผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เลยหรือไม่ และเมืองพัทยาจะแผนดำเนินการภายในระยะเวลา 3-5 ปี อีกทั้งแผนการดำเนินการเดิมมีรายละเอียดใน TOR เดิมกำหนดเรื่องของการระบบระบายน้ำและระบบรวบรวมน้ำเสีย แต่ในTORใหม่ได้มีการตัดเรื่องการระบายน้ำออก เหลือเพียงระบบรวบรวมน้ำเสียเท่านั้น อยากให้ฝ่ายบริหารชี้แจงสาเหตุที่มีการตัดการระบายน้ำเสียออกด้วยสาเหตุอะไร
            ด้านนายอนุวัตร ทองคำ ผู้อำนวยการสำนักช่างสุขาภิบาล ได้ตอบข้อซักถามของสมาชิกสภาเมืองพัทยา ว่า สำหรับการทำรายงานฉบับดังกล่าวในการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาอกกแบบรายละเอียดและจัดทำรายการงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย พื้นที่พัทยาและนาเกลือ จะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 300 วัน พร้อมผล EIA ที่จะมาดำเนินการ ส่วนงบประมาณจะเป็นการขอรับงบประมาณจาก EEC ส่วนแผนการดำเนินการนั้นเพื่อเป็นการปรับปรุงโรงบำบัดน้ำเสียซอยหนองใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ในการขยายการบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
            ทั้งนี้ที่ประชุมสภาได้เห็นชอบอนุมัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำชี้แจงรายละเอียดงบประมาณโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายการงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย พื้นที่พัทยาและนาเกลือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาและพื้นใกล้เคียงต่อไป
Subscribe
Advertisement