ธุรกิจท่องเที่ยวพัทยาวิกฤต หลังโควิด-19 พ่นพิษ ยอดนักท่องเที่ยว 0% เสนอ 6 เรื่องด่วนตรงนายกเมืองพัทยาพิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยา คาดสถานการณ์ยืดเยื้อนับปี แหล่งท่องเที่ยวอาจปิดตัวถึง 80% (มีคลิป)

             นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวจากผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครุนแรงมากยิ่งขึ้น จนภาครัฐได้ออกมาตรการในการป้องกันและควบคุมอย่างจริงจัง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีแต่ก็ต้องยอมรับว่ากรณีนี้ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของเมืองพัทยาอย่างรุนแรง ทั้งในส่วนของรายได้จากการท่องเที่ยว สถานประกอบการ ทั้งโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากที่ต้องปิดกิจการ รวมถึงแรงงานลูกจ้างจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบไปด้วย
            สำหรับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของเมืองพัทยานั้นต้องยอมรับว่าได้รับผลกระทบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเห็นได้จากนักท่องเที่ยวที่นิยมมาพักผ่อนที่เมืองพัทยาอย่างกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งแต่เดิมแม้จะมีปัญหาเรื่องของโรคแต่ก็ยังมีการจับจองเพื่อเดินทางมาพักผ่อนในพื้นที่อยู่บ้าง แต่หลังจากที่ภาครัฐได้ออกมาตรการที่เข้มข้น อาทิ การที่ต้องมีหลักประกันสุขภาพ 1 แสนเหรียญ หรือการรับรองทางการแพทย์ จึงมีการยกเลิกการเดินทางทั้งหมด หรือเรียกได้ว่าปัจจุบันยอดนักท่องเที่ยวเป็น 0%
           อย่างไรก็ตามจากมาตรการของภาครัฐนั้นถือเป็นสิ่งจำเป็น และผู้ประกอบธุรกิจก็เห็นดีไม่ขัดข้องแต่ประการใด เพราะจะเป็นการป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ได้ แต่จากสถานการณ์นี้คาดว่าจะทำให้มีผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวกว่า 80% โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่ต้องปิดตัวลงชั่วคราวหรือถาวร และอาจมีการขายกิจการทิ้งให้ชาว ต่างชาติหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ซึ่งคาดการณ์กันว่าอย่างน้อยน่าจะประมาณ 10-12 เดือน
            นายธเนศ กล่าวต่อไปว่าธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก และอีกทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายคงที่สูง ได้แก่ เงินเดือนและสวัสดิการของพนักงาน โดยเฉพาะเรื่องของค่าจ้าง ซึ่งแม้จะมีการปิดตัวชั่วคราว แต่ผู้ประกอบการก็ยังต้องแบกรับภาระอยู่ในอัตรา 75% ของเงินเดือน รวมถึงเงินประกันสังคมที่แต่เดิมมีการชำระในสัดส่วน 5% สำหรับผู้ประกอบการและแรงงานผู้ประกันตน แต่มีการปรับลดมาเหลือเพียง 4 % ขณะที่รายได้ของผู้ประกอบการเป็น 0% นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายด้านระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนภาษีท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียม เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้แม้ว่าภาครัฐจะได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาคธุรกิจออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การรักษาสภาพคล่อง” และ “การดำรงอยู่ของกิจการ” ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมต่างๆ ทุกระดับเริ่มประกาศปิดกิจการ หยุดดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเลิกจ้างแรงงาน ทำให้เกิดการว่างงานและการเดินทางกลับภูมิลำเนา สร้างความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกรณีนี้ภาครัฐต้องหันมาใส่ใจและเข้ามาดูแลหรือช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างจริงจังเหมือนนโยบายในต่างประเทศ เพื่อให้ทั้งในส่วนขององค์กร แรงงาน และผู้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตหรือประคองกิจการไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
            อย่างกรณีในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ยังยืนยันว่าผู้ประกอบการยังคงต้องแบกภาระเรื่องเงินเดือนและเงินประกัน สังคมตามที่กำหนดต่อไป และจะไม่ปรับลดให้เหลือ 50% ของรายได้พนักงาน หากผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เข้าข่าย 4 ประการ คือ 1.การถูกเลิกจ้าง 2.การลาออก 3.มีผู้ป่วยในสถานประกอบการ และ 4.ราชการสั่งปิดกิจ การ ซึ่งดูแล้วขัดแย้งกับ มติ ครม.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่นิยามของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ให้หมายรวมถึงการปิดกิจการเพราะผลกรทบจากโรคติดต่อด้วย นอกจากจะเป็นภัยพิบัติอย่างอัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย หรือธรณีพิบัติ
             นายธเนศ กล่าวต่อไปอีกว่าจากปัญหาที่กล่าวมา ล่าสุดตัวแทนจากสมาคม องค์กรภาคธุรกิจการท่องเที่ยวได้เข้าพบนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เพื่อเสนอขอ 6 มาตรการในการเยียวยา และลดกระทบต่อภาคธุรกิจจากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาและเสนอต่อภาครัฐอย่างจริงจัง ประกอบด้วย 1.กรณีหยุดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบดังกล่าว ให้ทางกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยลูกจ้างในอัตรา 70% เป็นระยะเวลาสูงสุด 180 วัน 2. ให้ยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 180 วัน โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ 3. ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินภาษีป้ายภาษีบำรุงท้อง ที่ในปี พ.ศ.2563 โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ 4.ขอลดอัตราดอกเบี้ย 50% จากธนาคารพาณิชย์ที่ทางเอกชนกู้อยู่ โดยภาครัฐเป็นผู้ชดเชยส่วนลดให้ผู้รับผิดชอบโดยกระทรวงการคลัง 5.ของดจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งกรณีนี้เป็นมาตรการของประเทศต่างๆ ที่ประกาศใช้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และ 6.ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคและอุปกรณ์สำหรับการดำเนินการป้องกัน COVID-19 สามารถนำมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า ทั้งนี้ข้อเสนอตามมาตรการดังกล่าว จะสามารถช่วยและลดความตึงเครียดให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ทำรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยนายกเมืองพัทยาได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและจะนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีและทางนายกรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป
             “ส่วนตัวแล้วมองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 น่าจะยืดยาวไปกว่า 1 ปี และการท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นปกติตามการคาดการณ์กลางปีหน้า สิ่งสำคัญในปัจจุบันคงไม่ใช่เรื่องของกำไร-ขาดทุน เพราะผู้ประกอบการไม่มีรายได้อยู่แล้ว ซึ่งเรื่องนี้รัฐต้องเข้ามาช่วยพยุง ต้องดูแลเพื่อให้ทุกส่วนสามารถยังชีพและสู้สถานการณ์ต่อไปได้” นายธเนศ กล่าวทิ้งท้าย

(ชมคลิป)

Subscribe
Advertisement