ลุยเข้มตัดตอนลูกน้ำยุงลาย เขต 1 SRRT เร่งทำลายแหล่งเพาะพันธ์ุลูกน้ำยุงลาย หลังพบปัจจุบันอำเภอบางละมุงมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้าทำการรักษาเพิ่มมากขึ้น

             (29 พฤษภาคม 2563) ที่ซอยไปรษณีย์ นาเกลือ หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สำนักการสาธารณสุขเมืองพัทยา ลงพื้นที่ในการให้ความรู้และทำการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ุยุงลาย หลังจากที่พบว่าปัจจุบันตัวเลขผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อำเภอบางละมุงมีเพิ่มมากขึ้น ติดอันดับ 1 ใน 3 ของจังหวัดชลบุรี
             ดังนั้นทางฝ่ายป้องกันและควบคุมโรคติดต่อสำนักการสาธารณสุขเมืองพัทยา จึงได้นำหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ลงพื้นที่เขต 1 ในการให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชน รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านที่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธ์ุยุงลายได้ ซึ่งยุงลายที่เป็นต้นเหตุไข้เลือดออก ร้อยละ 95 เป็นยุงที่อยู่ในบ้านเรือน อีกร้อยละ 5 อยู่ตามบริเวณสวน โดยยุงตัวเมียมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 45 วัน หลังผสมพันธุ์แค่ครั้งเดียว สามารถวางไข่ตัวละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 1,000-2,000 ฟอง การเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกถือเป็นงานที่ท้าทายการบริหารจัดการของผู้บริหารทุกระดับ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ความรู้ความเข้าใจ และขอความร่วมมือประชาชนให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อลดปริมาณยุงให้น้อยที่สุด ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงที่สุดในการกำจัดยุงลาย ต้องช่วยกันดูแล ปิดฝาโอ่งน้ำกินน้ำใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ ส่วนในภาชนะเล็กๆ ในบ้านเรือน เช่น แจกัน ไม้ประดับ น้ำที่อยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ น้ำในเล้าไก่เลี้ยงตามบ้าน ให้เปลี่ยนน้ำ เททิ้งทุก 7 วัน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่สุดคือในห้องน้ำ โดยทั่วไปจะมีสภาพชื้น เย็น และมีมุมอับมืด จะเป็นที่ซ่อนตัวของยุงลายได้ จึงต้องหมั่นดูว่ามีลูกน้ำยุงลายหรือไม่ หากพบว่ามีแม้แค่ตัวเดียว ก็ให้ตักทิ้งไป หรือใช้น้ำให้หมดไป และถ่ายน้ำทิ้ง จะเป็นวิธีกำจัดยุงลายที่ดีที่สุด การพ่นหมอกควันไม่สามารถป้องกันในระยะยาว เป็นเพียงการควบคุมชั่วคราวเพื่อฆ่ายุงลายตัวแก่ในบริเวณที่มีการระบาด เพื่อไม่ให้ยุงที่มีเชื้อไปกัดหรือวางไข่ต่อที่อื่น ๆ อีก

               สำหรับการกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ุยุงลาย สามารถทำได้หลายวิธี อาทิ 1. ปิดปากภาชนะเก็บน้ำด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อน อะลูมิเนียม หรือวัสดุอื่นที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด จนยุงไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปวางไข่ได้ 2. หมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน ซึ่งเหมาะสำหรับภาชนะเล็ก ๆ ที่มีน้ำไม่มากนัก เช่น แจกันดอกไม้สด ทั้งที่เป็นแจกันที่หิ้งบูชาพระ แจกันที่ศาลพระภูมิ หรือแจกันประดับตามโต๊ะ รวมทั้งภาชนะและขวดประเภทต่าง ๆ ที่ใช้เลี้ยงต้นพลูด่าง ฯลฯ 3. ใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ ใส่ให้ลึกประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกของจานกระถางต้นไม้นั้น เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำส่วนเกินจากการรดน้ำต้นไม้ไว้ ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสำหรับกระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนัก ส่วนต้นไม้เล็กอาจใช้วิธีเทน้ำที่ขังอยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งไปทุก 7 วัน 4. การเก็บทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้ 5. บริเวณที่ปลูกต้นไม้ หากมีต้นไม้เยอะ ๆ ก็ทำให้มียุงเยอะ เพราะยุงจะชอบเกาะพักอยู่ในที่มืด ๆ อับ ๆ ควรแก้ไขให้ดูโปร่งตาขึ้น

              ถ้าเป็นต้นไม้ประดับในบริเวณบ้าน ก็ต้องคอยสังเกตุว่ารดน้ำมากไปจนมีน้ำขังอยู่ในจานรองกระถางหรือเปล่า พยายามเทน้ำทิ้งบ่อย ๆ โดยในวันนี้พบว่าประชาชนต่างให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยสอบสวนโรคคลื่อนที่เร็วเป็นอย่างดี

Subscribe
Advertisement