ชลบุรี-พัทยา หารือแนวทางเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษวานรในพื้นที่

        (19 ก.ย.66) ที่ห้องประชุมทัพพระยา ศาลาว่าการเมืองพัทยา นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคฝีดาษวานร โดยมีนายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบางละมุง นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
        นายแพทย์อภิรัต กตัญญุตานนท์ สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โรคฝีดาษวานร เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศไทย ตั้งแต่ “Pride month” (มิ.ย.66) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ปัจจุบันจังหวัดชลบุรีเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มากกว่าร้อยละ 80 ของชลบุรีอยู่ที่อำเภอบางละมุง แต่โรคนี้ป้องกันได้โดยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ประชาชนสามารถตรวจสอบอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง หากมีประวัติสัมผัสใกล้ชิด หรือมีเพศสัมพันธ์ุกับผู้สงสัยเป็นฝีดาษวานร หรือผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือมีผื่น/ตุ่มสงสัย ได้แก่ มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยสงสัย หรือผู้ป่วยฝีดาษลิง ทางช่องทางดังต่อไปนี้ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือปาก ทำความสะอาดห้อง หรือใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วยสงสัย หรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะผู้ป่วยมีอาการ เคยดูแลผู้ป่วยสงสัย หรือผู้ป่วยฝีดาษวานรขณะป่วย ให้สังเกตภายหลังสัมผัสผู้ป่วยภายใน 21 วัน หากมีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต เช่น บริเวณหลังหู คอ ขาหนีบ เจ็บคอ คัดจมูก หรือไอ มีผื่น มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนองขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือบริเวณรอบ ๆ ตามมือ เท้า หน้าอก ใบหน้า หรือบริเวณปาก หากมีอาการให้รีบเข้ารับการตรวจที่สถานบริการสุขภาพ หรือโรงพยาบาล โดยแจ้งอาการและประวัติเสี่ยงทันที
       ทั้งนี้ มีวิธีป้องกันการติดเชื้อโรคฝีดาษวานร เช่น หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ุกับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก หลีกเลี่ยงการสัมผัสแนบชิดกับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด รวมทั้งแนะนำให้ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เป็นต้น
        ด้าน นพ.วิชัย ธนาโสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางละมุง กล่าวว่า ปัจจุบันทางโรงพยาบาลดำเนินการร่วมกับมูลนิธิสวิง และมูลนิธิซิสเตอร์ ในการประชาสัมพันธ์ความรู้ และคำแนะนำในการสังเกตอาการโรคฝีดาษวานรในกลุ่มชายรักชาย เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในการป้องกันโรคฝีดาษวานรแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงร่วมดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมโรคฝีดาษลิง ตามแนวทางเฝ้าระวังสอบสวนโรคและควบคุมการระบาดโรคฝีดาษวานร
         ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตน สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

Subscribe
Advertisement