เมืองพัทยาเดินหน้าฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาความเหมาะสมฯ ระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า Monorail เตรียมนำร่องสายสีเขียว เส้นทางพัทยาเหนือไปแหลมบาลีฮาย

         เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 20 มิ.ย.66 นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีนายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดการโครงการ เป็นผู้กล่าวรายงาน ร่วมด้วยนายนคร ผลลูกอินทร์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายสกน ผลลูกอินทร์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี สมาชิกสภาเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักช่างเมืองพัทยา ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน และภาคประชาชน ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมบัวหลวง ชั้น 1 ศูนย์ประชุมมหาไถ่ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โดยมีทีมบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ประกอบด้วย บริษัทอินทิเกรเทด เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ จํากัด บริษัท ซี คอนซัลท์ เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด และบริษัท แพลนโปร จำกัด ร่วมนำเสนอข้อมูล
        ด้วยเมืองพัทยาเป็นเมืองหนึ่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันกำลังประสบกับปัญหาการจราจรติดขัดเป็นอันมาก โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองย่านเศรษฐกิจที่สำคัญ อันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตของเมือง ซึ่งพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาการจราจรในเมืองพัทยาคือ ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงพอ ส่งผลให้มีปริมาณในการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวเพิ่มมากขึ้น ทําให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดและเกิดมลพิษทางอากาศ ดังนั้น จึงมีความจําเป็นในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อรองรับการเดินทางในเมืองพัทยาให้ครอบคลุมที่พักอาศัยและแหล่งกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันเมืองพัทยามีจํานวนประชากรและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตมากยิ่งขึ้น ทำให้จะต้องดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพสูง เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง และเป็นการป้องกันปัญหาการจราจรในตัวเมืองพัทยาได้ในอนาคต ภายใต้กรอบนโยบายของการพัฒนาการขนส่งระบบรางเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคที่ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนาอุตสาหกรรม และการลดความต้องการการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล จึงมีความจําเป็นในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพในพื้นที่ เพื่อตอบสนองต่อปริมาณความต้องการในเดินทางของประชากรและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยาทั้งในปัจจุบันและที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

            อีกทั้งควรจะหาแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาการจราจรยิ่งเพิ่มทวีความรุนแรงจนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในอนาคต และเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว และเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรซึ่งเป็นปัญหาหลักของเมืองอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังเป็นการรองรับระบบขนส่งหลักจากโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานในเขตกรุงเทพมหานคร และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ทำให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางระหว่างท่าอากาศยานเข้าสู่เขตเมือง และเขตธุรกิจได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
         สำหรับการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลการศึกษาฯ ทางด้านวิศวกรรม ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ผ่านมา และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ โดยคณะที่ปรึกษาโครงการฯ พร้อมทั้งการอภิปราย ตอบข้อซักถาม รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย โดยส่วนใหญ่อยากได้ระบบรถไฟรางเบา (Tram) ระดับพื้น แต่ทีมที่ปรึกษาโครงการฯ ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมฯ และมีความเห็นว่าระบบดังกล่าวไม่เหมาะสมกับพื้นที่เมืองพัทยาที่อาจจะทำให้ติดขัดด้านการจราจร และปัญหาน้ำท่วมขัง จึงเห็นควรจัดทำเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) เป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีระดับสันรางสูงจากถนนประมาณ 20 เมตร และในบางแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสูงประมาณ 10 เมตร ซึ่งจะนำร่องสายสีเขียว เส้นทางพัทยาเหนือไปแหลมบาลีฮาย โดยมีเส้นทางวิ่ง 12 สถานี พร้อมโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง (รายละเอียดตามภาพประกอบ)
         อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมครั้งนี้ คณะที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการนำร่อง และรูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมในลำดับต่อไป..

Subscribe
Advertisement