สกพอ.เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 1 จัดทำแผนพัฒนา TOD รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา – ฉะเชิงเทรา

         (8 พ.ค.66) เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านรถไฟ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายวรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และ TOD เป็นประธานเปิดการประชุมฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 : สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา โครงการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยมีนายนคร ผลลูกอินทร์ รองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายสกน ผลลูกอินทร์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายวิเชษฐ์ หนองใหญ่ รองประธานสภาเมืองพัทยา พร้อมด้วยนายสุรินทร์ ยิ้มใย สมาชิกสภาเมืองพัทยา เจ้าหน้าที่สำนักช่างเมืองพัทยา ผู้แทนจากเทศบาลเมืองหนองปรือ หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เจ้าของที่ดินบริเวณพื้นที่เป้าหมาย ผู้นำชุมชน/อปท. และคณะทำงาน EEC เข้าร่วมประชุม
         ด้วยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้ดำเนินการโครงการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ (EECh) ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ “เมืองอัจฉริยะ” (Smart City) และสนับสนุนกิจการรถไฟความเร็วสูงและระบบขนส่งมวลชนระบบรางของกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่าง ๆ โดยต้องการพัฒนาเมืองแบบกระชับ และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน Transit-Oriented Development (TOD) ควบคู่กัน ในการนี้จึงได้จัดการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดโครงการ ขอบเขตการดำเนินโครงการ แนวคิดการพัฒนา และแผนการดำเนินงาน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งส่วนใหญ่คือเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้อง ได้แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะประเด็นความสนใจในการร่วมโครงการฯ โดยมีผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการ เข้าร่วมประชุมด้วย
        ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการขับเคลื่อนการพื้นที่เขต พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งหนึ่งในการต่อยอดการพัฒนารถไฟความเร็วสูงให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง หรือ TOD ให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม พร้อมไปกับการสร้างให้พื้นที่มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยแนวทางการพัฒนาเมืองโดยรอบสถานีขนส่งหรือ TOD จะเป็นการวางแผนเพื่อการพัฒนาพื้นที่ โดยเน้นความสมัครใจและความสนใจร่วมโครงการฯ โดยไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน โดย สกพอ.ได้ดำเนินการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีเขตส่งเสริม เศรษฐกิจพิเศษฯ เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูง 2 แห่ง ได้แก่ สถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา จังหวัดชลบุรี และ สถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยแนวคิดการพัฒนาเบื้องต้น ประกอบด้วย
        1. พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมระยะ 500 เมตรโดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา ครอบคลุม 2 ชุมชนสำคัญ ได้แก่ ชุมชนรุ่งเรือง (เมืองพัทยา) และชุมชนหนองใหญ่ (เทศบาลเมืองหนองปรือ) อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาของจังหวัดชลบุรี คือ “เมืองนวัตกรรมชั้นนำ สร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างสมดุลและยั่งยืน” และวิสัยทัศน์ของเมืองพัทยา คือ “เมืองแห่งโอกาส เศรษฐกิจสมดุล คุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับทุกคน” อันเป็นการผสมผสานการพัฒนาสู่อนาคตเพื่อความสุขอย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำแนวคิดนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบและพัฒนาพื้นที่รอบสถานีพัทยา ให้เป็น Transportation hub ประกอบด้วย พื้นที่สาธารณะ พื้นที่พาณิชยกรรมและกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน (Community complex) พื้นที่สำหรับจอดรถบัส นักท่องเที่ยว และโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ด้วยระบบขนส่งมวลชนของท้องถิ่น เช่น รถสองแถว กับสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยา เป็นต้น เพื่อการพัฒนาพื้นที่อย่างสมดุล มีคุณภาพ และชุมชนได้รับผลตอบแทนจากการ พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีฯ อย่างแท้จริง
         2. พื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา มีขอบเขตพื้นที่ศึกษาครอบคลุมระยะ 500 เมตร โดยรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา มีแนวคิดการพัฒนาที่มีศักยภาพเป็นเมืองที่อยู่อาศัยชั้นดีและมีคุณภาพสูง ซึ่งใช้ประโยชน์จากโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูง และคำนึงถึงความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดด้วย
ทั้งนี้ในอนาคตเมื่อโครงการแล้วเสร็จและเกิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่ง (TOD) ของทั้ง 2 สถานี จะเกิด ประโยชน์ต่อประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการดึงดูดการลงทุนและพัฒนากิจการเป้าหมายร่วมกับสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนด้านต่าง ๆ ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษฯ ดังกล่าว โดยท้องถิ่นและชุมชนจะเกิดการพัฒนาแหล่งงานและการจ้างงานเพิ่มขึ้น การพัฒนาสภาพแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐาน ที่ได้มาตรฐาน สอดคล้องกับแนวคิดการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างชุมชนให้มีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น เช่น ถนน ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สาธารณะ และเพิ่มมูลค่าที่ดินในอนาคต ส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในขณะที่ เจ้าของที่ดินและผู้อยู่อาศัยในเขตส่งเสริมฯ มีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจการพัฒนาที่มีแนวทางหลากหลายยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงกรรมสิทธิ์ที่ดิน สิทธิการพัฒนาและเข้าร่วมดำเนินการ โดยได้รับผลประโยชน์ในระยะยาวที่คุ้มค่าและเหมาะสม ส่วนผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมการลงทุนจาก EEC
        อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมครั้งนี้ สกพอ.จะรวบรวมข้อมูลความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการพิจารณารูปแบบการพัฒนาโครงการนำร่อง และรูปแบบการร่วมลงทุนที่เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของเจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาเพื่อประกอบการจัดทำแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณพื้นที่รอบสถานีเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินให้มี ความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งจะดำเนินการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังความคิดเห็นและประชาสัมพันธ์รายละเอียดข้อมูลโครงการไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่โครงการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องต่อไป..

Subscribe
Advertisement