4 สิ่งที่ไม่ควรทำในคอนเทนต์ขายของ

4 สิ่งที่ไม่ควรทำในคอนเทนต์ขายของ

 

        ในบรรดาช่องทางการสื่อสารจากตัวผู้ประกอบการไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย แน่นอนว่าคงไม่มีวิธีไหนที่จะคงความคลาสสิกได้เท่ากับการเขียนคอนเทนต์ เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนตัวหนังสือก็ยังคงทรงพลังในแง่ของการสื่อสาร สังเกตได้จากการปรากฏของงานเขียนที่ยังคงมีให้เห็นในปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนรูปแบบจากคอนเทนต์บนสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ 

แม้งานการโฆษณาในรูปแบบของงานเขียนจะมีจุดเด่นทั้งในเรื่องของการสร้าง awareness และการกระตุ้นยอดขาย แต่ถ้าหากเราจัดทำคอนเทนต์ขายของขึ้นมาโดยพลั้งเผลอทำสิ่งที่เป็นข้อห้ามไปด้วยความไม่รู้ แน่นอนว่าการจะสื่อสารกับลูกค้าก็อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น วันนี้เราจึงได้รวบรวม 4 สิ่งที่ไม่ควรทำในการเขียนคอนเทนต์ขายของขึ้นมาตามรายละเอียดด้านล่าง ดังนี้

เริ่มเขียนโดยไม่ได้ศึกษาพฤติกรรมลูกค้าเป้าหมายให้ดี

 

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเขียนคอนเทนต์ขายของก็เหมือนกับการสร้างบ้านที่เราจำเป็นจะต้องวางแผนและสร้างรากฐานของบ้านให้มั่นคงตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง โดยวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้เราสามารถจัดทำคอนเทนต์เพื่อสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างตรงจุดคือการศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าให้ดี และนำรายละเอียดในส่วนดังกล่าวมาใช้กำหนดอารมณ์ในการเล่าเรื่อง (Mood and Tone) ของคอนเทนต์ เช่น การเลือกนำเสนอเนื้อหาที่ลูกค้าสนใจ และการใช้ภาษาในคอนเทนต์ที่เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เป็นต้น

 

จัดทำคอนเทนต์โดยไม่ได้สร้างพล็อตก่อน

 

        เพราะการเขียนคอนเทนต์ขายของก็เหมือนกับงานเขียนทุกประเภทที่ผู้เขียนจะต้องกำหนดพล็อตเรื่องให้ละเอียดก่อนเริ่มทำว่าจะพูดถึงเรื่องอะไรในแต่ละส่วนของคอนเทนต์เพื่อให้ตัวเราเองในฐานะผู้เขียนสามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง นอกเหนือไปจากประโยชน์ในส่วนนี้แล้ว การกำหนดพล็อตยังมีประโยชน์กับตัวผู้เขียนอีกมากมาย เริ่มตั้งการทำให้งานเขียนของเราดูน่าสนใจ สามารถดึงดูดให้คนอ่านอยากรู้เรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ไปจนถึงการช่วยให้เราไม่เขียนอะไรที่หลุดประเด็นไปจากพล็อตหลักของเรื่อง

 

เน้นขายของมากจนเกินไป

 

        ถึงแม้จะได้ชื่อว่าเป็นคอนเทนต์ขายของ แต่การจัดทำงานเขียนดังกล่าวขึ้นมาโดยให้น้ำหนักไปที่การขายมากเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังโดนยัดเยียด และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ในท้ายที่สุด และจากสาเหตุข้อนี้เอง เราจึงอยากจะให้ทุกคนลองจัดทำคอนเทนต์ขึ้นมาโดยเน้นสาระสำคัญไปที่การสร้างอารมณ์ให้ผู้อ่านมองเห็นถึงความน่าสนใจภายในตัวสินค้าของเรามากกว่าการขายโดยตรง เช่น การให้เหตุผลว่าทำไมถึงต้องซื้อสินค้าของเรา และอะไรคือประโยชน์ที่จะได้รับผ่านการใช้เทคนิค storytelling เป็นต้น

           

ไม่ได้มีการอ้างอิงสถิติหรือข้อมูลต่างๆ

 

        ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีที่จะช่วยให้คอนเทนต์ของเราดูมีน้ำหนักมากขึ้นคือการใส่อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพื่อให้ผู้อ่านมองเห็นถึงที่มาที่ไปของข้อมูลที่เราหยิบมานำเสนอภายในคอนเทนต์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับงานเขียนคอนเทนต์ขายของที่มีการนำตัวเลขและสถิติต่างๆ มาใส่ไว้ในเนื้อหา

 

 

Subscribe
Advertisement