เปิดแดนสูทกรรมเรือนจำพิเศษพัทยา สนองพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 10 ภายใต้โครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ช่วยให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามหลักมนุษยธรรม

            (19 ส.ค.63) ที่เรือนจำพิเศษพัทยา คณะสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ได้เข้าเยี่ยมชมแดนสูทกรรม ภายใต้โครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยมีนางนฤมนต์ เผ่าเพ็ง นักทัณฑวิทยาชำนาญการ เรือนจำพิเศษพัทยา พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ
            นางนฤมนต์ เผ่าเพ็ง นักทัณฑวิทยาชำนาญการ เรือนจำพิเศษพัทยา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเรือนจำพิเศษพัทยา ได้น้อมนำโครงการ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของ “ผู้ต้องขัง” ให้อยู่ดี กินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามหลักมนุษยธรรม จึงได้ทำการปรับปรุง แดน 1 ซึ่งเป็น “แดนสูทกรรม” คือแดนสำหรับทำอาหารให้คนทั้งเรือนจำ ด้วยการบูรณะซ่อมแซมพื้นที่ 225 ตารางวา ให้ถูกต้องตามสุขลักษณะของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นห้องจัดเก็บและห้องตระเตรียมวัตถุดิบ ซึ่งจะแยกออกเป็นสัดส่วน ประกอบด้วย ห้องเตรียมผัก ห้องเตรียมเนื้อ ห้องปรุงอาหาร และพื้นที่ในการหุงต้ม ทุกพื้นที่มีความสะอาด ถูกต้องตามสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุข
           สำหรับเมนูอาหารแต่ละวัน จะใช้เมนูกลางของกรมราชทัณฑ์ซึ่งในแต่ละปี กรมราชทัณฑ์จะมีตัวอย่างเมนูของแต่ละภาคให้เลือกทั้ง 4 ภาค โดยให้เลือกเมนูที่เหมาะสมในท้องถิ่นของตน โดยสาธารณสุขจังหวัดจะเป็นผู้รับรองคุณภาพอาหาร ส่วนพ่อครัวก็จะคัดเลือกผู้ต้องขังที่มีอุปนิสัยดี มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์กำหนด หากผู้ใดมีทักษะในเรื่องการปรุงอาหารพอสมควร ก็จะคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษให้มาประจำที่แดนสูทกรรม
              นางนฤมนต์ เปิดเผยอีกว่า ในการจัดเตรียมอาหารเลี้ยงผู้ต้องจำนวน 4,042 คน ต้องใช้ข้าวสารถึงวันละ 1,700 กิโลกรัม ต่อ 3 มื้อ มื้อเช้าและเย็นมีกับข้าว 2 อย่าง ส่วนกลางวัน เป็นข้าวต้มเครื่อง ก๋วยเตี๋ยว หรือขนมจีน ซึ่งบางมื้อก็จะมีผลไม้ตามฤดูกาลควบคู่เป็นพิเศษ โดยจะเริ่มปรุงอาหารมื้อแรกของวันในเวลา 03.00 น. ส่วนมื้อเที่ยงจะเริ่มในเวลา 09.00 น. และต่อเนื่องไปจนถึงมื้อเย็น เพื่อเลี้ยงผู้ต้องขังทั้ง 11 แดน รวมจำนวน 4,042 คน

               แม้ไม่พบร่องรอยของ “อิสรภาพ” แต่ก็เห็นว่าในเรือนจำไม่ได้ลำบากยากเย็นแสนเข็ญตามจินตนาการคุกในอดีต แต่ถึงจะสะดวกสบายแค่ไหน ก็ไม่มีใครอยากเข้ามาอยู่ เพราะคำว่า “สบาย” คงไม่ได้มีคุณค่ามากกว่าคำว่า “อิสรภาพ” อย่างแน่นอน

Subscribe
Advertisement