กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดประชุมประชาสัมพันธ์โครงการ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2

        เมื่อวันที่ 25 มี.ค.65 ที่ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (THE COP Seminar & Resort) ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี นายปราบพิภพ จัมปะโสม หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการโยธาธิการ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดชลบุรี เป็นประธานการประชุมประชาสัมพันธ์โครงการ ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ระยะที่ 2 พื้นที่ในระบบกลุ่มหาด ตั้งแต่พื้นที่ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ถึงตำบลสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
         ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย มีระดับความรุนแรงและสาเหตุที่แตกต่างกันไป ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ตระหนักถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน จึงได้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ดำเนินการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้าง ป้องกันชายฝั่งรูปแบบต่าง ๆ ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และตามการร้องขอของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย
           ปี พ.ศ.2557 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เสนอแนวคิดในการจัดการชายฝั่ง โดยใช้ “ระบบกลุ่มหาด (Littoral Cell)” ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่ง ในการจัดการชายฝั่งที่ได้รับการยอมรรับในระดับสากล โดยใช้หลักเกณฑ์และองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านสมุทรศาสตร์ เกี่ยวกับกระบวนการชายฝั่ง เข้ามากำหนดขอบเขตพื้นที่ชายฝั่ง ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นไปในลักษณะเชิงพื้นที่ หรือในลักษณะระบบกลุ่มหาด กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงได้จัดทำ “โครงการศึกษาเพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง” โดยนำแนวคิดระบบกลุ่มหาด มาใช้เป็นแนวทางในการศึกษา ซึ่งในครั้งนี้เป็นการดำเนินงานในระยะที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่แนวชายฝั่งประมาณ 1,208 กิโลเมตร ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ในการจัดการชายฝั่งโดยใช้ระบบกลุ่มหาด พร้อมจัดทำแผนหลักแนวทาง และมาตรการการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ศึกษา โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทั้งทางด้านวิศวกรรม สภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ ในการจัดการชายฝั่ง โดยใช้ระบบกลุ่มหาด และส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกัน ระหว่างองค์กรภาครัฐที่รับผิดชอบในการจัดการ และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งต่อไป

          โดยได้เชิญหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว และภาคประชาชน เพื่อร่วมรับฟังข้อมูลโครงการและร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อไป

Subscribe
Advertisement