กรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ กปถ. จัดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 4 (จังหวัดชลบุรี) โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

          เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 มี.ค.65 ณ ห้องบอลรูม 1 โรงแรมอมารี พัทยา จังหวัดชลบุรี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทน อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานเปิดการประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาเพื่อลดอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ โดยมีนายภราดร ชัยนภาพร ปลัดอำเภอบางละมุง ให้การต้อนรับในฐานะผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี
           โครงการดังกล่าวเป็นการร่วมมือระหว่างกรมการขนส่งทางราง และกองทุนเพื่อความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลจุดตัด และจัดทำเป็นแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการแก้ไขอุบัติเหตุจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ ซึ่งแบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารถไฟทางคู่ และโครงการรถไฟความเร็วสูง พร้อมทั้งจัดทำคู่มือมาตรฐานจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์จุดตัดทางถนนและทางรถไฟให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ตลอดจนพัฒนาคู่มือในการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุเชิงลึกบริเวณจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ

           นายสรพงศ์ กล่าวว่า เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยมีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ 2,517 แห่ง ผ่านมาปัจจุบัน 11 ปี ประเทศไทยมีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟเพิ่มมากขึ้นเป็น 2,971 แห่ง หากไม่นับรวมจุดตัดที่ยกเลิก 217 แห่ง เท่ากับว่าจะยังมีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟ 2,754 แห่ง ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปิดจุดตัดด้วยตนเอง หรือทางลักผ่านเพิ่มสูงขึ้น โดยทางลักผ่านในปัจจุบันมีจำนวน 626 แห่ง และทางลักผ่านส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องกั้น ไม่มีอุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ส่งผลให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องรีบแก้ปัญหาปิดจุดตัดทางลักผ่านโดยเร็วที่สุด แต่ที่ผ่านมาพบว่า ทั้งหน่วยงานส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ปิดจุดตัดทางลักผ่าน เนื่องจากเกรงว่าจะโดนประชาชนต่อต้าน แต่ครั้นจะติดอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยก็เกรงว่าจะผิดระเบียบ เนื่องจากทางผ่านดังกล่าวไม่ใช่ทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย สุดท้ายผู้ที่ได้รับผลกระทบคือประชาชนที่ใช้ทางลักผ่านนั้น ต้องเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ
และผู้เสียชีวิต เพราะฉะนั้นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง จุดตัดใดที่อยู่ใกล้ จำเป็นต้องปิดจุดใดจุดหนึ่ง และให้ไปใช้อีกจุดหนึ่ง ทางลักผ่านใดที่ไม่ปลอดภัยและจำเป็นต้องปิดก็ต้องปิด แต่ทางลักผ่านใดที่มีความจำเป็น ก็ให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่นหรือองค์การบริหารส่วนตำบลหรือเจ้าของถนนตัดผ่านทางรถไฟในพื้นที่รับผิดชอบส่งเรื่องผ่านการรถไฟแห่งประเทศไทย และกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณา หากพิจารณาแล้วมีความจำเป็น สามารถปรับปรุงได้ ก็จะพิจารณาอนุมัติให้เป็นจุดตัดที่ถูกต้อง และปรับปรุงและแก้ไขให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อไป
           สำหรับจังหวัดชลบุรี มีทางรถไฟผ่านพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพานทอง อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอศรีราชา อำเภอบางละมุง และอำเภอสัตหีบ จากการสำรวจพบว่า มีจุดตัดทางถนนและทางรถไฟรวม 147 แห่ง โดยปัจจุบันยกเลิกแล้ว 10 แห่ง คงเหลือ 137 แห่ง แบ่งเป็นจุดตัดต่างระดับ 39 แห่ง และจุดตัด
เสมอระดับ 98 แห่ง ในจำนวนนี้มีเครื่องกั้นแล้วจำนวน 93 แห่ง คงเหลือจุดตัดที่เป็นป้ายจราจร 5 แห่ง โดยพบว่าในช่วงปี 2558-2564 จังหวัดชลบุรีเกิดอุบัติเหตุขบวนรถไฟชนยานพาหนะ จำนวน 12 ครั้ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และผู้บาดเจ็บ 6 ราย โดยมีจุดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำ 3 แห่ง ได้แก่ จุดตัดทางรถไฟบริเวณกิโลเมตรที่ 96+103 (ระหว่างสถานีพานทอง-สถานีชลบุรี อำเภอพานทอง) เกิดอุบัติเหตุ 4 ครั้ง ซึ่งปัจจุบันกรมทางหลวงชนบทอยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟตามแนวถนน ชบ.3022 ส่วนจุดตัดทางรถไฟบริเวณกิโลเมตรที่ 1014509 (ระหว่างสถานีพานทอง-ชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี เป็นเครื่องกั้นอัตโนมัติ ข.1) และกิโลเมตรที่ 143+070 (ระหว่างสถานีแหลมฉบัง-ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา เป็นเครื่องกั้นทำงานด้วยไฟฟ้า ก.1) เกิดอุบัติเหตุซ้ำ 2 ครั้ง โดยปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ศึกษาการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด โดยออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งในโครงการดังกล่าว จุดตัดทางรถไฟเสมอระดับจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เป็นจุดตัดต่างระดับทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและทำให้เกิดความปลอดภัยในการเดินรถไฟมากยิ่งขึ้น

Subscribe
Advertisement