นายกสมาคมไก่ติงรัฐประกาศควบคุมราคาเนื้อไก่ช่วงหมูแพง ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด จี้ ก.พาณิชย์-เกษตรฯ ดูข้อมูลต้นทุนผลิตที่แท้จริง ชี้บี้ผู้ประกอบการมาก สุดท้ายอาจไม่เหลือผู้ผลิต

          จากกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีมติยกระดับการควบคุมราคาสินค้าเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะราคาเนื้อไก่ เพื่อป้องกันผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาช่วงราคาเนื้อหมูแพงและขาดตลาดนั้น
         ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ม.ค.65 ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ 1 ใน 5 ของไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกับมาตรการดังกล่าวว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด และไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบต่างๆ ทั้งข้าวโพด กากถั่ว รวมทั้งน้ำมันในการผลิตอาหารสัตว์ที่ขยับราคาสูงขึ้นถึง 50% แล้ว

          เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนที่สมาคมฯ เสนอให้รัฐลดภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าเพื่อลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญ กลับไม่ได้รับการใส่ใจ ขณะนี้มีเกษตรกรและผู้ประกอบการโทรศัพท์มาสอบถามในเรื่องนี้กันมาก ซึ่งจริงๆ แล้วหากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรเข้ามาดูข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนการผลิตจะทำให้รู้ว่าวันนี้ประเทศไทยสินค้าแพงทุกชนิด ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการจะฉวยโอกาสขึ้นราคากันเอง แต่เป็นเพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่เจอเรื่องโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของบางบริษัทขาดทุนถึงหลักพันล้านแล้ว พร้อมยังบอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมู ไก่แพง รัฐต้องหาสาเหตุให้เจอ เช่น ไก่ราคาสูงเพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 50% ประกอบกับช่วงที่ผ่านมายังเจอปัญหาเรื่องกำลังซื้อในประเทศที่มีน้อย แต่ยังโชคดีที่ยังสามารถส่งออกได้ แต่กลับต้องเจออุปสรรคเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไม่มีสายการเดินเรือจนทำให้สินค้าส่งออกไม่ตรงเวลา และผู้ประกอบการยังต้องแบกภาระเรื่องการฝากเนื้อสัตว์ไว้ที่ห้องเย็น ไม่นับรวมปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่หนีกลับบ้านช่วงการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ขณะที่แบงก์พาณิชย์เข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อจนภาคการผลิตเดินไม่ได้ และยังต้องเจอกับมาตรการของรัฐที่กำหนดให้ผู้ผลิตขายสินค้าแบบขาดทุน
           “อย่าลืมว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น กลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่ต้องหางานทำ เด็กที่ยังเรียนอยู่ต้องออกมาฝึกงาน ซึ่งกลุ่มฉวีวรรณ แต่ละปีรับนักศึกษาเหล่านี้เข้าทำงานในโรงงานแปรรูป โรงเชือดที่ต้องใช้นักศึกษาทั้งสายวิศวกรรม และสายบัญชี รวมทั้งสายงานที่เกี่ยวเนื่องและงานวิจัยมากถึง 200 คน แต่หากสุดท้ายเราเดินธุรกิจไม่ได้แล้วเด็กๆ ฝึกงานจะมีแหล่งเรียนรู้จากที่ไหน”
          ดร.ฉวีวรรณ ยังเผยอีกว่า ในปี 2565 นี้ประเทศไทยจะยังต้องเจอปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วง หากรัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เชื่อว่าจะเกิดปัญหาแน่เพราะเม็ดเงินในประเทศไม่มีแล้วเช่นเดียวกับทั่วโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันแพงที่เป็นปัจจัยสำคัญในทุกภาคการผลิต
Subscribe
Advertisement