ตามติดมหากาพย์ Water Front คอนโดยักษ์ริมหาดพัทยา หลังยืดเยื้อนานกว่า 10 ปี ล่าสุดนายกพัทยาลงนามคำสั่งเชิญผู้รับ เหมาเอกชนเสนอราคาและวิธีรื้อถอน ระบุใบอนุญาตก่อสร้างหมดอายุ และมีคำสั่งรื้อถอนตั้งแต่ปี 60 แต่เจ้าของกิจการยังเพิกเฉย

          “วอร์เตอร์ฟร้อนท์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนซ์” โครงการคอนโดมิเนียมสุดหรูริมอ่าวพัทยา ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2551 บริเวณท่าเทียบเรือพัทยาใต้ แหลมบาลีฮาย จ.ชลบุรี ในขนาดความสูง 53 ชั้น บนพื้นที่กว่า 2 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา ซึ่งมีห้องพักจำนวน 312 ห้อง โดยทำการก่อสร้างหลังได้รับใบอนุญาตจากเมืองพัทยา ซึ่งพบว่าโครงการนี้อยู่ในภูมิทัศน์ที่สวยงามเนื่องจากตั้งตระหง่านอยู่หน้าอ่าว มองเห็นทิวทัศน์ได้อย่างดี ทำให้มีลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติแห่ไปเช่าซื้อห้องเป็นจำนวนมาก สนนราคาตั้งแต่ 4-10 ล้านบาท โดยทางโครงการมีสัญญาว่าจะทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบห้องพักให้กับผู้ซื้อได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2558
             ต่อมาในช่วงปลายปีเดียวกัน นายกเมืองพัทยาในขณะนั้น คือ นายอิทธิพล คุณปลื้ม ระบุว่าการยื่นขอต่อใบอนุญาตก่อสร้างรอบที่ 3 ของโครงการไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เนื่องจากตรวจพบว่ามีการก่อสร้างผิดแบบหลายจุด ตั้งแต่ฐานราก ตำแหน่งช่องลิฟต์ และบันไดหนีไฟ จึงได้สั่งให้ระงับการก่อสร้างไปตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมเป็นต้นมา พร้อมกันนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักการช่างเข้าไปตรวจสอบสภาพและตัวอาคาร โดยมีการทำหนังสือแจ้งให้ทางโครงการทำการแก้ไขรายละเอียดแบบแปลนทั้งสิ้นรวมถึง 42 จุด เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ซึ่งต่อมาช่วงปลายปี 2559 ทางโครงการแจ้งว่าพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดตามกฎหมาย พร้อมทั้งจะลดระดับความสูงของอาคารลงจำนวน 8 ชั้น เพื่อลดผลกระทบต่อภาคประชาชน แต่สุดท้ายเมืองพัทยาก็ยังไม่มีการอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมมอบหมายให้นิติกรเข้าแจ้งความดำเนินคดีบริษัท บาลีฮาย จำกัด เจ้าของโครงการ ใน 2 ข้อหา คือ ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น และบุกรุกพื้นที่สาธารณะ ด้วยความที่เมืองพัทยาออกคำสั่งระงับโครงการดังกล่าวเป็นเวลานานและยังไม่มีทีท่าว่าจะดำเนินการต่อเมื่อใด ทางกลุ่มผู้ซื้อจึงเกิดการวมตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิ์และความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยแจ้งว่าในช่วงเดือนมีนาคม 2560 ทางโครงการได้ยื่นเรื่องต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการด้วยภาระหนี้กว่า 2.39 พันล้านบาท จึงมีการแต่งตั้งทนายเพื่อร้องขอต่อศาลให้ผู้เสียหายหรือผู้ซื้อเข้าไปมีส่วนร่วมในแผนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและโครงการสามารถดำเนินการต่อไปได้ เป็นการรักษาสิทธิ์ตามกฎหมาย กระทั่งสุดท้ายศาลไม่รับคำร้องดังกล่าว โดยเฉพาะในปี 2561 นี้ ข่าวคราวโครงการวอร์เตอร์ฟร้อนท์ยังไม่จบ หลังทีมทนายผู้ซื้อเปิดแถลงผล หลังศาลฎีกาพิพากษาว่าการออกโฉนดที่ดิน “อาชาแลนด์” ซึ่งอยู่ติดกับโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมแจงที่มาว่าแปลงที่ดินของคอนโดมาจากเอกสารสิทธิ์เดียวกันที่ถูกแบ่งแยกขายออก จึงให้รัฐควรเร่งเข้ามาตรวจพิสูจน์ ขณะที่คดีความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายชะงัก หลังผู้รับผิดชอบโครงการถอนคดี จนผู้ซื้อเตรียมรวบรวมเอกสารส่งฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน
            ในเรื่องนี้ทางทนายความกลุ่มผู้เสียหายแจ้งว่าเรื่องที่ดินนี้แม้แม้อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับทางอาคารวอร์เตอร์ฟร้อนท์โดยตรง แต่สุดท้ายก็จะมีผลถึงกันไม่ช้าก็เร็ว และเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อผู้เช่าซื้อซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการวอร์เตอร์ฟร้อนท์นั้น แท้จริงแล้วเป็นเอกสารสิทธิ์ที่มาจาก สค.1 เลขที่ 93 เหมือนกัน ซึ่งมีการแจ้งเรื่องของการขอออกเอกสารสิทธิ์ไว้ตั้งแต่ปี 2498 ในเนื้อที่จำนวน 2.2.16 ไร่ ก่อนจะมีแยกออกเป็น น.ส.3 จำนวน 5 แปลง และแบ่งขายให้ บ.อาชาแลนด์ 2 แปลง ซึ่งต่อมามีการออกเป็นโฉนด 5 แปลง และขายให้กับ บ.บาลีฮาย หรือโครงการวอร์เตอร์ฟร้อนท์อีกจำนวน 2 แปลง ดังนั้นเมื่อศาลฎีกาพิพากษาแล้วว่าการออกโฉนดของ บ.อาชาแลนด์ เป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ สุดท้ายหากยังไม่มีการตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิ์ทั้งหมด และยังปล่อยให้เรื่องคาราคาซังจนหากมีการฟ้องร้องและตรวจสอบที่มาของเอกสารสิทธิ์ และสมมุติว่าที่ดินที่ตั้งของโครงการวอร์เตอร์ฟร้อนท์มีพื้นที่บางส่วนที่ได้มาโดยมิชอบ เรื่องนี้ย่อมส่งผลถึงความเสียหายของกลุ่มผู้ซื้อที่ดำเนินการมาอย่างถูกต้อง รวมทั้ง บ.บาลีฮาย เจ้าของโครงการด้วย เพราะทั้ง 2 ส่วนซื้อมาตามขั้นตอนและหลักการตามกฎหมายทุกอย่าง ดังนั้นจึงรัฐจึงควรให้ความสนใจเข้ามาตรวจสอบและหาผู้รับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
           ขณะที่ทาง บ.บาลีฮาย ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการหรือศาลล้มละลายกลาง แต่ทางผู้เช่าซื้อคัดค้านไว้ กระทั่งมีการถอนเรื่องออกมาและก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร กระทั่งเมืองพัทยาออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารส่วนเกินดังกล่าวแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ปัจจุบันผู้เช่าซื้อจึงกำลังรวมตัวและรวบรวมเอกสารสำคัญในการเรียกร้องความเสียหายจากทางโครงการคือ บ.บาลีฮาย ซึ่งคงจะมีการฟ้องร้องผ่านทางศาลจังหวัดพัทยา
           ซึ่งต่อมานายอภิชาติ วีรปาล รองนายกเมืองพัทยาในยุคของการแต่งตั้งจาก คสช.ในปี 2560 ได้ลงนามคำสั่งเมืองพัทยาแบบ ค.15 เลขที่ 367/2560 ประกาศให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 4 และ 43 วรรคสาม (กรณีที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาต แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคาร หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงใบอนุญาต) โดยแจ้งความไปยัง บ.บาลีฮาย จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 301 ม.10 ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยระบุว่าตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้ายอาคาร การรื้อถอนอาคาร ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง (กรณีที่กระทำผิดไปจากที่ได้รับอนุญาต) หรือคำสั่งห้ามใช้อาคารหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารที่อาจเป็นภยันตรายตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง และมาตรา 41 วรรคหนึ่ง ฯ ซึ่งปรากฏว่าทางโครงการมิได้ดำเนินการให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 42 และ มาตรา 43 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2511 ให้ทำการรื้ออาคาร ค.ส.ล.50 ชั้น 3 ชั้นใต้ดิน ขนาด 19.70×91.35 เมตร จำนวน 1 หลัง ในส่วนที่ไม่ตรงกับแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต ให้แล้วเสร็จใน 365 วันหลังได้รับคำสั่ง โดยหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็จะดำเนินการทางกฏหมาย
            ด้านนายคริส เชิดสุริยะ หัวหน้าฝ่ายควบคุมอาคารสำนักการช่างเมืองพัทยา กล่าวว่า สำหรับโครงการนี้มีการขออนุญาตปลูกสร้างตั้งแต่ปี 2551 จนกระทั่งปี 2556 หรือ 5 ปีต่อมาเมืองพัทยาตรวจพบว่ามีการก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบที่ยื่นเสนอขอไว้ จึงได้ออกคำสั่งระงับการก่อสร้างและการใช้อาคาร และทางโครงการมายื่นขออนุญาตใหม่จนปี 2560 เมืองพัทยาก็มีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตให้ และให้ทำการรื้อถอนในปีเดียวกัน หลังจากนั้นทางโครงการจึงทำหนังสือร้องฟ้องร้องนายกเมืองพัทยาไปยังศาลปกครอง โดยในปี 2561 ศาลก็ได้ยกคำร้องแต่ให้ขอทุเลาไว้ เมืองพัทยาจึงต้องดำเนินการทำเรื่องรื้อถอนต่อ โดยมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังฝ่ายวิศวกรรมก่อสร้าง และกรมโยธาธิการ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ โดยระบุว่าไม่มีผู้เชี่ยวชาญมากพอในการคำนวณการรื้อถอนอาคารทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ปัจจุบันเมืองพัทยาจึงพยายามเร่งทำหนังสือไปยังบริษัทเอกชนผู้เชี่ยวชาญจำนวน 11 แห่ง เข้ามาร่วมหารือเพื่อหาแนวทางดำเนินการ
          ล่าสุดนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาคนปัจจุบัน ได้ลงนามหนังสือประกาศคำสั่งเมืองพัทยาที่ ชล 52304/9377 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนร่วมเสนอราคาและวิธีการรื้อถอนอาคารอย่างเป็นทางการแล้ว โดยระบุว่าด้วยเมืองพัทยาจะดำเนินการรื้อถอนอาคารโครงการ WaterFront Condominium Pattaya Thailand ของ บ.บาลีฮาย จำกัด เป็นอาคาร ค.ส.ล.50 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 3 ชั้น ขนาด 17.50×91.35 เมตร ซึ่งก่อสร้างผิดแบบจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต จึงเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมเสนอวิธีการรื้อถอนอาคารอาคาร ประมาณราคาค่าใช้จ่าย ระยะเวลาที่ต้องรื้อถอน พร้อมกับกำหนดมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
          อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ถือเป็น “มหากาพย์” ที่ยืดเยื้อมานานและจะจบลงอย่างสวยงามตามที่มีการใช้อำนาจทางกฎหมายเข้ามาดำเนินการได้จริงหรือไม่ ขณะที่ปัญหาเรื่องของเอกสารสิทธิ์ที่ดินก็ยังเป็นเรื่องที่คาราคาซังอยู่จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากที่ดินของโครงการเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของ บ.อาชาแลนด์ ที่ถูกแบ่งแยกขายและตั้งอยู่ข้างเคียงกัน ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาออกมาแล้วว่าเป็นที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์อย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป….
Subscribe
Advertisement