ไข้เลือดออก – ชิกุนคุนยา เมืองพัทยายังไม่เข้าขั้นวิกฤต ม.ค.- ส.ค.63 พบยังไม่มีผู้เสียชีวิต ด้านฝ่ายป้องกันควบคุมโรคติดต่อ เมืองพัทยา เร่งเดินหน้าลงพื้นที่หมู่บ้านรุ้งแลนด์ ปรับสภาพภูมิทัศน์ กำจัดลูกน้ำยุงลาย พ่นหมอกควัน สร้างความตระหนักรับรู้แก่ประชาชน

           (15 สิงหาคม 2563) ที่หมู่บ้านรุ้งแลนด์ ฝ่ายป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ สำนักการสาธารณสุขเมืองพัทยา นำทีม SRRTหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเมืองพัทยา ลงพื้นที่ในการให้ความรู้ แจกทรายอะเบท และดูแะสิ่งแวดล้อมภายในหมู่บ้านรุ้งแลนด์และละแวกดังกล่าว
             นายเจษฎาพงษ์ ธนสมิทธิเวสน์ หัวหน้าฝ่ายป้องกันและควบคุมโรค สำนักการสาธารณสุขเมืองพัทยา เปิดเผยว่า ในการลงพื้นที่หมู่บ้านรุ้งแลนด์ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามรอบเวลาในการรณรงค์ ซึ่งในวันนี้ทางเจ้าหน้าที่และหน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว ได้ลงพื้นที่ในการดูแลสิ่งแวดล้อม และพ่นหมอกควัน รวมถึงทำการประชาสัมพันธ์ในการเฝ้าระวังและรับมือโรคไข้เลือดออก และชิคุนกุนยา ที่ปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นในหลายแห่ง
             สำหรับโรคไข้เลือดออกและชิกุนคุนยา ในปัจจุบันพบว่าสถานการณ์ผู้ป่วยในพื้นที่เมืองพัทยานั้น ตั้งแต่เดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันยังไม่เข้าขั้นวิกฤต เนื่องจากยังไม่มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น แต่ในส่วนของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นในขณะนี้เนื่องจากปัจจุบัน หลังจากที่ทางภาครัฐได้มีการปลดล็อคในหลากหลายกิจกรรม ก็ได้มีกลุ่มคนหลั่งไหลเข้ามาทำงานในพื้นที่เมืองพัทยาเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บางรายที่ติดโรคจากพื้นที่อื่นแล้วมาแสดงอาการในพื้นที่เมืองพัทยา ทำให้เพิ่มจำนวนขึ้นตามมาด้วย ดังนั้นในส่วนของการเฝ้าระวัง การัรบมือ และการป้องกัน จึงถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาหลังพบว่ามีผู้ป่วยเกิดขึ้นในพื้นที่ใด ทางฝ่ายป้องกันและควบคุมโรคก็ไม่เคยทอดทิ้ง กลับติดตามดูแลผู้ป่วยทุกรายอย่างใกล้ชิด มีการลงพื้นที่ทำการสำรวจลูกน้ำยุงลาย สแกนเส้นทางของโรค เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนในพื้นที่
             ในส่วนของภาคประชาชนเองก็ต้องมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการเดินหน้าปฏิบัติการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ประกอบไปด้วย 1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เก็บภาชนะใส่อาหารหรือน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ใส่ถุงดำ และนำไปทิ้งลงถังขยะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถางหรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทั้งนี้ในส่วนของแผนการเฝ้าระวังยุงลาย และโรคชิกุนคุนยาในวันนี้ พบว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ต่างในความร่วมมือในการลงพื้นที่เฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกวันนี้เป็นอย่างดี

Subscribe
Advertisement