ผู้ว่า ททท. เร่งถกผู้ประกอบการท้องถิ่น เอกชน ตัวแทนภาครัฐพื้นที่พัทยา หาข้อมูลเสนอ รมต.ทท.กรณีแผนขยายเวลาธุรกิจภาคกลางคืนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นตี 4 หวังกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ก่อนแจงนายกรัฐมนตรีขอความเห็นชอบ ด้านเอกชนเฮ ขอจัดทำ T-Zone รับปากคุมเข้มกฎเหล็กจัดระเบียบสังคม นำร่อง “วอล์คกิ้งสตรีท” (มีคลิป)

               (24 ส.ค.62) ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมร่วมกับเมืองพัทยา ผู้ประกอบการภาคธุรกิจการท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.พัทยา ตำรวจท่องเที่ยว ตม.ชลบุรี สมาคมภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว เพื่อร่วมหารือและรับฟังความคิดเห็น กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีนโยบายในการขยายเวลาธุรกิจภาคกลางคืนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการบันเทิงและการท่องเที่ยว โดยการขยายเวลาตามกฎหมายจากปิดเวลา 02.00 น. เป็น 04.00 น.ในเฉพาะพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ด้วยมุ่งหวังในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น หลังประสบปัญหาหลายด้านจนทำให้ภาคธุรกิจด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ มีภาวะถดถอยลงตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังปี 2561
                นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจจากหลายปัจจัย รวมทั้งเรื่องของค่าเงินบาทที่แข็งตัว เศรษฐกิจโลก และความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น ซึ่งแม้ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้รวมยังคงไม่ตรงกับเป้าหมาย ทางกระทรวงฯ จึงมีนโยบายที่จะนำเสนอรัฐบาลเกี่ยวกับการขยายเวลาธุรกิจภาคกลางคืนเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยว โดยหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันและกระตุ้นให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขยายเวลาปิดธุรกิจกลางคืน จากเวลา 02.00 น. เป็น 04.00 น.โดยจะเน้นไปยังเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และพังงา เป็นต้น โดยจะมาเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นว่ามีความเหมาะสม สร้างรายได้ หรือส่งผลกระทบด้านใดบ้าง เนื่องจากเป็นมาตรการที่จะช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวให้มีรายได้มากขึ้น
               อย่างไรก็ตามการประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปรายงานตรงต่อ รมต.ทท. เพื่อนำเสนอ ครม.ในวันอังคารนี้ เพื่อขอรับความเห็นชอบ ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวต้องดูว่าควรมีหลักเกณฑ์อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ จะจำกัดพื้นที่ในการจัดทำ Zoning เป็นการเฉพาะอย่างไร ที่สำคัญต้องคำนึงถึงกระแสของสังคมที่ระบุว่ามาตรการดังกล่าวอาจเข้าข่ายการส่งเสริมอบายมุข เรื่องของอุบัติเหตุ ยาเสพติด และเรื่องของเยาวชน จึงต้องมารับฟังเพื่อให้ได้รับทราบข้อเท็จจริงก่อนไปนำเสนอ
               ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในที่ประชุมระบุว่าจากปัจจัยที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีรายได้ลดลงจากการท่องเที่ยวกว่า 20 % จึงเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว เนื่องจากจะทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวดีขึ้น แต่ขอให้ดำเนินการในการจัดทำเป็นพื้นที่เฉพาะหรือโซนนิ่ง อย่างพื้นที่ในวอล์คกิ้งสตรีท ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของพัทยา แต่ประสบปัญหาความซบเซามานาน เนื่องจากหลายปัจจัย โดยการจัดทำเป็น T-Zone หรือ Tourism Zoning แต่จะต้องเพิ่มความเข้นข้นในด้านมาตรการจัดระเบียบสังคม ทั้งการปิดให้ตรงเวลา การดูแลด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รวมทั้งพื้นที่นอก Zoning ด้วย ซึ่งหากมีการจัดทำและดำเนินการเป็น Pattaya Model คาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวดีขึ้นกว่า 20 % แต่คงต้องแก้ปัญหาเรื่องกระแสสังคมและภาพลักษณ์ด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการมองต่อกระแสดังกล่าวว่าเป็นการส่งเสริมอบายมุข สุ่มเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ปัญหาเรื่องการค่ามนุษย์ และเยาวชน
            อย่างไรก็ตาม มีการเสนอให้มีการกำหนดพื้นที่ที่ชัดเจน และรวบรวมผู้เห็นด้วยในสัดส่วนร้อยละ 80 รวมทั้งข้อดี-ข้อเสีย และประโยชน์จากการจัดทำเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณาต่อไป

(ชมคลิป)

Subscribe
Advertisement