กรมเจ้าท่าสั่งการด่วน หน่วยงานในพื้นที่เร่งประสานเมืองพัทยาแก้ไขวิกฤติน้ำฝนไหลบ่าทำโครงการเสริมทรายชายหาดเกิดผลกระทบ เผย..ต้องรับสภาพ ถือเป็นภัยธรรมชาติ ต้องทนรออีก 1 ปี เมืองพัทยาใช้งบ 105 ล้าน ทำระบบระบายน้ำชายหาด (มีคลิป)

                (3 เม.ย.62) นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เปิดเผยถึงกรณีที่เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนักในช่วงบ่ายวานนี้ ซึ่งปรากฏว่าเกิดมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลบ่าลงสู่พื้นที่ชายหาดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จนทำให้ทรายที่มีการนำมาเสริมไว้ตลอดแนว 2.6 กม.ปริมาณกว่า 4.6 แสน ลบ.ม.จากพัทยาเหนือถึงพัทยาใต้ ในขนาดความกว้าง 35 เมตร ที่กรมเจ้าท่าเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาด ด้วยงบประมาณ 400 กว่าล้านบาท ซึ่งเพิ่งดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากผืนทรายถูกน้ำจากแนวฝั่งกัดเซาะไหลลงสู่ทะเลเป็นบริเวณกว้างนั้น


กรณีนี้ทางกรมเจ้าท่ามีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก และมีคำสั่งด่วนให้ทางสำนักงานเจ้าท่าพัทยาเร่งประสานเมืองพัทยาซึ่งเป็นหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ในช่วงค่ำของคืนที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยงานได้นำกำลังบุคลากรและเครื่องมือหนักลงพื้นที่เพื่อนำรถแบ็คโฮไปตักทรายในทะเลที่ถูกน้ำซัดออกไปห่างจากฝั่งประมาณ 100-200 เมตร กลับมาเติมในร่องทรายและจุดที่ถูกน้ำเซาะ ซึ่งมีพื้นที่ตลอดแนวชายหาดจำนวน 11-12 จุด ซึ่งตลอดทั้งคืนก็สามารถแก้ไขปัญหาไปได้ส่วนหนึ่งเท่า นั้น เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง โดยในคืนวันนี้ (3 เม.ย.62) ก็จะมีการนำกำลังลงไปดำเนินการต่อในช่วงที่น้ำลงสูงสุด โดยคาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ก็จะสามารถคืนสภาพชายหาดกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้

             นายเอกราช กล่าวต่อไปว่า ที่จริงแล้วปัญหาเรื่องของน้ำหลากนี้เป็นปัญหาที่ทางกรมเจ้าท่ารับทราบและเป็นห่วงมาตั้งแต่เริ่มโครงการที่ได้รับงบประมาณในปี 2557 แล้ว แต่ด้วยได้รับงบประมาณสนับสนุนแล้ว และปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยาก็รุนแรง จึงต้องดำเนินการไปควบคู่กับเมืองพัทยา ที่มีแผนในการแก้ไขปัญหาน้ำหลากและน้ำท่วมชายหาด ซึ่งได้ตั้งงบประมาณไว้จำนวน 105 ล้านบาท เพื่อจัดทำระบบโดยปัจจุบันโครงการนี้ มีการประกวดราคา และจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาแล้ว คาดว่าคงจะดำเนินการได้ในเร็ววันนี้ และจะสามารถจัดทำจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ได้ในระยะเวลา 1 ปี ขณะที่ปัญหาน้ำหลากจากฝั่งนั้นคงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับสภาพ และร่วมมือกับเมืองพัทยาในการแก้ไขในช่วงที่เกิดปัญหา ขณะที่รอให้โครงการป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ เนื่องจากชายหาดถือว่าทรัพย์ของแผ่นดินที่ต้องช่วยกันรักษา และเหตุการณ์นี้ก็ถือเป็นภัยธรรมชาติที่คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นก็คงมีไม่มากนัก แต่ด้วยมีน้ำหลากเกิดขึ้นหลายจุดจึงทำให้สภาพชายหาดดูแล้วเกิดความเสียหายมาก

             อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยานั้นมี 2 ปัจจัย ทั้งจากปัญหาคลื่นลมจากทะเล และปัญหาน้ำหลากจากฝั่ง จึงมีข้อตกลงร่วมกันกับเมืองพัทยาที่จะร่วมกันป้องกันและปรับสภาพ โดยคาดว่ากรณีเหล่านี้จะส่งผลให้ชายหาดพัทยาถูกน้ำกัดเซาะไปเฉลี่ยปีละประมาณ 2-5 เมตร แต่ทางกรมเจ้าท่าก็ได้วางแผนระยะยาวไว้ว่าจะตั้งงบประมาณเพื่อเติมทรายครั้งใหญ่ในทุก 5-10 ปีอยู่แล้ว

Subscribe
Advertisement