การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดเวทีรับฟังความเห็นชาวชลบุรี หลังดำเนินการศึกษารถไฟเชื่อม 3 ท่าเรือ หวังเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายขนส่งโลจิสติกส์ รองรับการพัฒนาอีอีซีในพื้นที่ภาคตะวันออก

           (19 ธันวาคม 2561 ) ที่ห้องสำเภา โรงแรมเอเชีย พัทยา นายธวัชชัย รอดงาม ปลัดจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน งานศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก – ฉะเชิงเทรา – ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา – มาบตาพุด พร้อมด้วยนายจุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการปรับปรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย ท่ามกลางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

           ด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับ และพัฒนาศักยภาพโครงข่ายขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการพัฒนาอีอีซีในอนาคตของพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้มีการมุ่งเน้น และส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกในกลุ่มจังหวัดเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยการมีแนวคิดที่จะประสิทธิภาพโครงข่ายขนส่งโลจิสติกส์ ในกลุ่มจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งที่สำคัญของภาคตะวันออก และมีบทบาทสำคัญช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน และลดปัญหาการจราจรติดขัดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่ง และลดอุบัติเหตุทางถนน จึงได้ริเริ่มให้มีการศึกษา โครงการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก – ฉะเชิงเทรา – ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา – มาบตาพุด ซึ่งจะถือเป็นอีกหนึ่งในเส้นทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรางสู่ 3 ท่าเรือ ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบในการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียดโครงการฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 –เดือนกันยายน 2562 ครอบคลุมพื้นที่ศึกษา 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง มีจุดเริ่มต้นศึกษาโครงการ บริเวณสถานีหัวหมาก และไปสิ้นสุดโครงการ บริเวณสถานีมาบตาพุด มีระยะทางรวม 200 กิโลเมตร


ด้านนายธวัชชัย รอดงาม ปลัดจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า โครงการดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นแผนงานที่สอดคล้องกับนโยบายของทางรัฐบาลในเรื่องของแผนงานการพัฒนาระบบการขนส่ง ซึ่งเป็นแผนงานหลักที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคตะวันออก โดยเฉพาะระบบขนส่งทางรถไฟรางคู่ในอนาคตก็จะมีประโยชน์ต่อการขนถ่ายสินค้า ทั้งอุปโภคบริโภค โดยการเชื่อมโยงการขนส่งจากกรุงเทพฯ มาสู่ภาคตะวันออก และอาจจะเชื่อมต่อไปสู่ภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป จึงถือว่าเป็นหัวใจ และมีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ก็คิดว่าประชาชน จะได้มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนถึงความสำคัญ และประโยชน์ของโครงการดังกล่าว เนื่องจากว่าจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการพัฒนาเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน จนไปถึงระดับประเทศ
ส่วนนายจุลเทพ จิตะสมบัติ วิศวกรอำนวยการศูนย์โครงการปรับปรุงทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย เผยว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการก่อสร้างถนนยิ่งเพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ไม่เพียงพอรองรับต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น รฟท. จึงมีแนวคิดที่จะเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันได้มีรถไฟรางคู่เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังเพียงแห่งเดียวเท่านั้น และมีจุดตัดเยอะแยะจึงส่งผลให้การขนส่งล่าช้า จึงได้มีแนวคิดในการเพิ่มประสิทธิภาพรถไฟรางคู่ เพื่อต่อเชื่อมเข้ากับท่าเรือสำคัญในภูมิภาคตะวันออก ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด โดยจะมีการลดจุดตัดหลายๆ แห่งออก เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในหลายๆ ท่าเรือ ซึ่งจะเห็นได้ว่าสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ส่วนผลกระทบต่างๆ ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างรถไฟรางคู่ก็มีแผนที่จะรองรับไว้อยู่แล้ว แต่ในประเด็นเรื่องของการจราจร ยืนยันแน่นอนว่าการดำเนินงานจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เนื่องจากโครงการก็จะก่อสร้างอยู่ภายในเส้นทาง หรือ พื้นที่ของการรถไฟเพียงเท่านั้น


ทั้งนี้ ภายในการประชุมก็ได้มีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อคิดเห็นต่างๆ ปรากฏว่า ได้มีการนำเสนอข้อกังวลใจของประชาชน ในเรื่องของการเวนคืนที่ดินว่าจะมีการดำเนินการตรงจุดไหนบ้าง ซึ่งชาวบ้านในชุมชนเจริญสุขพัฒนาล้วนมีความเป็นกังวลอย่างเป็นอย่างมาก เพราะหลายครอบครัวอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับสถานีรถไฟเมืองพัทยา ขณะที่ชุมชนซอย 5 ธันวา ชาวบ้านก็มีความกังวลในเรื่องของการเวนคืนที่ดินเช่นกัน แต่เป็นในส่วนของการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ประชาชน ว่าควรที่จะประเมินค่าชดเชยที่ดินตามราคาจริงในปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชนได้มีทุนในการไปซื้อที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ส่วนนายธีรวิทย์ ทองนอก ปลัดเทศบาลเมืองหนองปรือ ก็ได้แสดงความกังวลใจในเรื่องของการดำเนินการก่อสร้างโครงการที่จะมีการปิดจุดตัดต่างๆ ตลอดแนวเส้นทางโครงการ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการจราจรขนส่ง และเศรษฐกิจของประชาชนในพื้นที่ จึงเสนอให้ผู้จัดโครงการหาแผนรับมือ และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน นอกจากนี้ยังได้ฝากให้ผู้จัดโครงการเตรียมแผนในการรับมือกับภาวะน้ำท่วมขัง ระหว่างที่มีการก่อสร้างโครงการด้วย เนื่องจากปัจจุบันทางรถไฟก็เปรียบเสมือนกำแพงกั้นน้ำจากพื้นที่หนองปรือที่จะไหลไปสู่เมืองพัทยา จนกลายเป็นปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่อยู่แล้ว หากมีโครงการนี้เกิดขึ้นอีกก็เกรงว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน และส่งผลกระทบต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมในครั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ก็จะมีการจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนอีก 2 ครั้ง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาโครงการฯ ในขั้นตอนต่อไป โดยในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป ก็จะเดินทางไปจัดเวทีรับฟังความเห็นของชาวชลบุรีอีกครั้ง ณ โรงแรมเดอะไทด์ รี สอร์ท บางแสน ซึ่งที่ผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้า และรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.doubletrackmaptatput.com

Subscribe
Advertisement